วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556




กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านคลองไคร
หมู่ที่ ๑๐ ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

๑. การก่อเกิด
        หลังจากการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมกระบวนการชุมชนเข้มแข็งป้องกันยาเสพติด บ้านคลองไครได้ปรับแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดมาเป็นแบบ บูรณาการหมายความว่าในอดีตที่หมู่บ้านต้องดำเนินกิจกรรมตามการสั่งการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งเดิมเป็นไปในลักษณะต่างหน่วยงานเข้ามาดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ประสานงานกัน ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการทำงานร่วมกับทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เรียกว่า วิทยากรกระบวนการเข้ามาทำงานใกล้ชิด เพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการสามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ชาวบ้านเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาในชุมชน ภาคราชการปรับบทบาทจากผู้ดำเนินงาน มาเป็นเพียงผู้คอยให้การสนับสนุน โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาความสามารถประชาชนในการพึ่งพาตนเองและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน 
        เมื่อตัวแทนภาครัฐในนาม วิทยากรกระบวนการเข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านและกระตุ้นสนับสนุนชุมชน โดยมุ่งเน้นประเด็นความห่วงใยอนาคตเยาวชนลูกหลานเป็นมูลเหตุจูงใจ ในขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็มีความรู้สึกมั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินไปได้ เพราะจากนับจากขั้นแรกที่มีการชี้แจงว่าชาวบ้านจะช่วยเหลือและดูแลกันเอง ไม่มีการส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปให้กับทางราชการ เมื่อถึงขั้นตอนการระบุรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะเก็บรายชื่อไว้เป็นความลับโดยจะจุดไฟเผาทิ้ง ไม่มีการส่งรายชื่อให้ใคร แต่จะมีคนในหมู่บ้านเป็นคนเก็บรายชื่อไว้โดยเลือกคนที่ชาวบ้านไว้ใจมากที่สุดที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการคนชุมชนเข้มแข็งด้วยกัน จากตรงนี้ชาวบ้านจึงเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการส่งรายชื่อให้ภาครัฐ “...เพราะในที่ประชุม คนที่เขียนมาก็เป็นพ่อแม่พี่น้องกัน ไม่ใช่ใครอื่น ก็อยากให้ลูกหลานปลอดภัย ไม่อยากให้ทางตำรวจเข้ามายุ่ง เราดูแลตัวเราเอง...
        ทั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้านมองว่าวิธีแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงเห็นดีด้วยกับวิธีการใหม่ของทีมวิทยากรกระบวนการ ผู้นำทางการร่วมกับผู้นำธรรมชาติบ้านคลองไครจึงพยายามชักชวนชาวบ้านหลากหลายกลุ่ม ทั้งชาวบ้านฐานะยากจนและกลุ่มคนฐานะดีในหมู่บ้าน ที่เห็นความสำคัญของปัญหายาเสพติด และเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องสร้างแนวร่วมชาวบ้านทุกคนเพื่อแสวงหาทางออกด้วยกัน โดยมาร่วมมือกันเป็นคณะกรรมการชุมชนเข้มแข็ง มาร่วมมือกันเป็นพลังของชุมชนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนโดยไม่ถูกครอบงำจากภาครัฐ ทั้งยังมีการรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อช่วยกันสร้างภูมิคุ้มภัยยาเสพติด บ้านคลองไครเริ่มดำเนินการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการ ยกระดับการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน อาศัยพลังชุมชนดูแลชุมชนของตนเอง

๒. วิธีการที่ทำให้หมู่บ้านประสบความสำเร็จ 
        ๒.๑) โดยทีมอาสาสมัครวิทยากรกระบวนการร่วมกับผู้นำชุมชนบ้านคลองไครเข้าสืบสภาพชุมชน พร้อมกับรวบรวมข้อมูลสำคัญของชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาสาสมัครวิทยากรกระบวนการกับชาวบ้านคลองไคร มีการเปิดเวทีย่อยเพื่อเผยแพร่แนวคิดที่ว่า มาตรการปราบปรามเพียงลำพังไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนได้ จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อดูแลชุมชนของตนเองการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนนั้นชาวบ้านต้องร่วมมือกัน จะหวังพึ่งพาอาศัยเฉพาะข้าราชการและคณะกรรมการหมู่บ้านคงไม่ได้ และพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า มาตรการปราบปรามของเจ้าหน้าที่เพียงลำพังไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ เพราะปัญหายาเสพติดเป็น
เรื่องที่เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ของชุมชน ด้วยการแก้ไขปัญหาของราชการที่มักจะเป็นไปในลักษณะเมื่อเสร็จกิจกรรมก็พากันยกกำลังกลับ ปัญหาจึงมักจะไม่ได้รับการแก้ไข วนเวียนอยู่ในชุมชนมาโดยตลอด ชาวบ้านจึงต้องเลิกคิดว่าปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่อง ธุระไม่ใช่หรือ ชาวบ้านทำเองไม่ได้โดยให้ตระหนักว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาส่วนรวมของคนทั้งชุมชนที่ต้องลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา
        ๒.๒) ทีมวิทยากรกระบวนการเข้ามาพบผู้นำชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจในแนวทางกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ๑๐ ขั้นตอน โดยเฉพาะการเน้นบทบาทของผู้นำธรรมชาติ โดยไม่ได้มองข้ามความสำคัญของผู้นำทางการ ซึ่งจะต้องทำงานประสานสอดคล้องกัน เพราะในขณะที่ผู้นำทางการเหมาะสมที่จะเป็นผู้ประสานที่ดีระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการ ผู้นำธรรมชาติซึ่งมาจากศรัทธาของชาวบ้านจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง จึงเหมาะสมที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งผู้นำชุมชนต่างเห็นด้วยกับแนวคิดและแนวทางนี้
        ๒.๓) เปิดเวทีประชาคมทำความเข้าใจประชาชนในชุมชน เพื่อชี้ชัดให้เห็นว่าทุกข์ของชุมชนนั้นเกิดจากปัญหาหลากหลายเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่มีสถานการณ์แนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกวัน และกลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาอื่นๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  มีการปลุกเร้าเวทีประชุมว่า ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไปทุกคนจะตกอยู่ในสภาพที่อันตรายตลอดเวลา เยาวชนจะเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมไม่ดี และคงหนีไม่พ้นวงจรปัญหายาเสพติด ชาวบ้านทั่วไปก็ตกอยู่สภาพเสี่ยงภัยที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้เสพและผู้ค้า แต่สาระสำคัญที่วิทยากรกระบวนการพยายามเน้นย้ำ คือชุมชนควรดูแลจัดการปัญหายาเสพติดด้วยตัวเองเป็นหลัก ให้เปลี่ยนวิธีจากที่เคยใช้การดำเนินงานเชิงลับ รายงานให้ทางการเข้ามาจับกุม โดยให้เลิกส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้เจ้าหน้าที่ หันมาใช้การจัดประชุมชุมชนอย่างเปิดเผย เข้าไปพูดคุยแบบเปิดอกกับผู้ค้า ผู้เสพ แนะนำและช่วยเหลือกันและกัน ผู้ค้าก็ขอร้องให้เลิก ผู้เสพก็ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และด้วยความคิดที่ว่าผู้นำทางการมีบทบาทหน้าที่รองรับการทำงานกลไกภาครัฐอยู่แล้ว แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการทำงานบางอย่าง ดังนั้นจึงน่าจะมีกลไกที่ไม่ใช่ระบบราชการ แต่มีความคล่องตัวในการจัดการปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิต/วิถีวัฒนธรรมของชุมชน จึงเสนอให้มีการคัดเลือกผู้นำธรรมชาติจากความศรัทธาของชาวบ้านมาร่วมเป็น คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนบ้านคลองไครใต้
        ๒.๔) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการชุมชนเข้มแข็งได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านคลองไครถึงการดำเนินการตามแนวทางชุมชนเข้มแข็ง ๑๐ ขั้นตอนว่า เป็นการใช้หลักสันติวิธีกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนแก้ไขผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องยาเสพติดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้อภัย ให้โอกาสและบรรยากาศแบบเป็นกันเอง ใช้หมู่บ้านเป็นโรงพยาบาล ใช้กรรมการเป็นหมอ ใช้บ้านของผู้เสพเป็นเตียงผู้ป่วย ไม่กดดัน บีบคั้น เร่งรัด ไม่แบ่งฝ่ายคนดีคนเลว ไม่ให้องค์กรภายนอกชุมชนรู้ชื่อว่ามีใครเสพใครค้า ให้รู้แต่เพียงตัวเลขเท่านั้น จะทำการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือไม่ใช่เพื่อลงโทษ ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องเห็นใจช่วยเหลือ ผู้ค้ารายย่อยที่เสพด้วยก็ถือว่าเขาหาเงินไปซื้อยามาใช้เอง ไม่เป็นโทษรุนแรง แต่ถ้าขายเพราะโลภต้องมีโทษรุนแรง หากยังดื้อดึงไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับชุมชน ก็ใช้มติของชุมชนส่งชื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการตามกฎหมาย ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยที่ถือว่าเกินกำลังของชุมชน มีการสร้างเครือข่ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังยาเสพติดครอบคลุมครัวเรือนที่สมัครใจ คือกรรมการ ๑ คน รับผิดชอบดูแลเครือข่ายของตน ๓ -๔ ครัวเรือน ซึ่งเลือกเอาเองตามความเหมาะสมว่ากรรมการคนไหนสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับบ้านหลังใดได้บ้าง ให้ไปหามาว่าจะดูแลคุ้มครองบ้านหลังไหน แต่ห้ามซ้ำกัน แล้วนำรายชื่อนี้ให้กับเลาขากับประธาน ซึ่งไม่จำเป็นว่าบ้านจะต้องใกล้กันให้กระจายกันออกไป
        ๒.๕) คัดแยกผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อคณะกรรมการชุมชนเข้มแข้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวทางใหม่ของชุมชนบ้านคลองไคร มาถึงขั้นตอนการคัดแยกผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด วิธีการคือ กรรมการแต่ละคนจะต้องเขียนรายชื่อผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเท่าที่รู้มา โดยคณะกรรมการ จะต้องพิจารณาสมาชิกให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน แล้วเขียนรายชื่อระบุว่าใครอยู่ในข่ายสงสัย เสพ หรือค้า ให้ใส่ข้อมูลไปว่าบ้านไหน ชื่ออะไร รู้จักพ่อแม่เขาไหม โดยกรรมการทุกคนห้ามส่งกระดาษเปล่า เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ถือว่าเป็นการเข้าร่วมทำความดีกับชุมชน แล้วหย่อนกระดาษที่เขียนลงกล่องกระดาษที่เตรียมไว้ จากนั้นคณะกรรมการจะนำรายชื่อทั้งหมดมาพิจารณาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลก่อนจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าแฟ้มเก็บไว้เป็นข้อมูลของชุมชน ไม่ให้บุคคลภายนอกรับรู้
        ๒.๖) การรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด เมื่อคัดแยกผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเวทีประชาคมแล้ว คณะกรรมการชุมชนเข้มแข็งก็ทำการรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด โดยใช้วิธีอ่านรายชื่อสมาชิกของแต่ละครัวเรือน หากครัวเรือนใดไม่ได้รับเสียงรับรองแบบเอกฉันท์จากคณะกรรมการ ก็ให้นำรายชื่อผู้เกี่ยวข้องหรือต้องสงสัยในครัวเรือนนั้นไปปรับเพิ่มในบัญชีผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ไม่ได้หมายความว่าครัวเรือนนั้นเป็นคนไม่ดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งจะต้องมีการติดตามดูแลเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ เพื่อการรับรองในรอบต่อไปหรือเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
        ๒.๗) คณะกรรมการชุมชนเข้มแข็ง ทำการปลุกกระแสและสร้างขวัญกำลังใจให้ครอบครัวปลอดยาเสพติดและถือเป็นการยอมรับยกย่องครัวเรือนเหล่านั้น โดยมีแผนจะเชิญบุคคลสำคัญและผู้มีเกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานในการแจกธงสัญลักษณ์ปลอดยาเสพติดให้นำไปติดไว้หน้าบ้าน ให้เห็นเด่นชัด แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าหากครัวเรือนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดก็จะถูกถอดถอนสภาพครัวเรือนปลอดยาเสพติด แล้วต้องเข้าสู่กระบวนการรับรองครัวเรือนอีกครั้งจึงจะสามารถกลับมารับธงปลอดยาเสพติดได้อีก

๓. นวัตกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด
       การจัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชนและสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE สู่ความเป็นหนึ่ง (TO BE NUMBER ONE CAMP FOR LEADERS AND MEMBERS)

              วัตถุประสงค์
  เพื่อให้แกนนำเยาวชน (ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน) และสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชน
·  ได้รับการฝึกและพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำทั้งด้านบริหารและบริการ
·  สามารถให้ความช่วยเหลือดูแลเพื่อนสมาชิกในด้านให้คำปรึกษาและแก้ปัญหา
·  สามารถจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อการพัฒนา EQ ให้กับเพื่อนสมาชิก
·  สามารถจัดกิจกรรมสร้างสุขให้สอดคล้องกับความต้องการของเพื่อนสมาชิก
· สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีและถ่ายทอดค่านิยมความเป็นหนึ่ง (Somebody) โดยไมต้องพึ่งยาเสพติดให้แก่เพื่อนสมาชิก
· สามารถสร้างและขยายเครือข่ายแกนนำเยาวชนและสมาชิกชมรมจากรุ่นสู่รุ่นโดยการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน
ขั้นตอน/กิจกรรมการดำเนินงาน
                     ๑. ดำเนินการจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชน 1 ชมรม โดยการเปิดรับสมัครจากทุกหมู่บ้าน
              ๒.เทศบาลตำบลคลองพนพัฒนา ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินตำบลคลองพนสนับสนุนในกระบวนการจัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชนและสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE สู่ความเป็นหนึ่ง (TO BE NUMBER ONE CAMP FOR LEADERS AND MEMBERS)  

                  ๓.สมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชน (ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน)   เข้าร่วมโครงการจัดค่ายฯ ๑ รุ่นๆละ ๓ วัน (๒ คืน ๓ วัน) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น